ธ.ทรงบารมีล้นฟ้า แรงศรัทธาล้นแผ่นดิน พสกนิกรไทยทั่วถิ่น ขอองค์ภูมินทร์ ทรงพระเจริญ

วันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2556







อุปกรณ์การแกะตัวหนัง


1. หนังวัว หนังควาย หนังแกะ หนังแพะ
2. กรอบไม้สี่เหลี่ยมสำหรับตากหนัง
3. แบบลายภาพ
4. เครื่องมือตอกและสลักลาย ได้แก่ เขียง มีดปลายแหลม มีดปลายมน ตุ๊ดตู่ ค้อน เทียนไข
5. หมึกสีจากสีธรรมชาติหรือสีวิทยาศาสตร์
6. น้ำยางใสหรือน้ำมันเคลือบเงา
การแกะหนังเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ทั้งเวลาและความชำนาญในการผลิต มีขั้นตอนดังนี้
1. เตรียมหนัง โดยนำหนังวัวหรือหนังควาย ขณะเป็นหนังสดมาขึงกับกรอบไม้สี่เหลี่ยม ตากให้แห้งแล้วนำหนังไปฟอก ขูดส่วนที่เป็นพังผืดออกให้หนังมีความหนาบางเท่ากันแต่ในปัจจุบันนิยมใช้หนังสำเร็จรูปฟอกแล้วจากโรงงาน
2. ร่างภาพ วาดลวดลายที่ต้องการตามแบบลายภาพลงบนแผ่นหนัง ที่นิยมได้แก่ตัวละครในเรื่องของหนังตะลุง เช่น ฤาษี พระอิศวร รูปพระ รูปนาง รูปยักษ์ และตัวตลก ส่วนรูปที่ใช้ประดับตกแต่งอาคารบ้านเรือนได้แก่ตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์
3. แกะฉลุ การแกะฉลุต้องใช้ความชำนาญและพิถีพิถันมาก โดยใช้เครื่องมือตอกและสลักลายขณะแกะเครื่องมือควรชุบเทียนไขบ่อยๆ เพื่อให้หล่อลื่น
3.1 ใช้ตุ๊ดตู่ตอกสลับลายตามเส้นลวดลายที่ร่างภาพไว้
3.2 การขุดเป็นกนกซึ่งเป็นตัวลายจะใช้ เขียงไม้อ่อนรองหนังแล้วกดปลายมีดไปตามจังหวะลวดลายแต่ละตัว
3.3 การทำเป็นดอกลายต่างๆ และการเดินเส้นประ โดยใช้ค้อนตอกตุ๊ดตู่ ซี่ตุ๊ดตู่จะใช้ตามลักษณะของปากตุ๊ดตู่แต่ละแบบ โดยใช้เขียงไม้แข็งรองหนัง
3.4 การขุดแกะหนังตามเส้นรอบนอก หลังจากการแกะฉลุส่วนภายในของตัวรูปเสร็จแล้วจะได้รูปหนังแยกออกเป็นตัว4.การลงสีรูปหนัง ขึ้นอยู่กับลักษณะรูป และประโยชน์การใช้สอย รูปหนังสำหรับเชิดเล่นหนังตะลุงต้องการความเด่นสะดุดตา ช่างจะเลือกใช้สีฉูดฉาด และเป็นสีโปร่งแสง5. ลงน้ำมันเคลือบเงา จะลงน้ำมันเคลือบหรือไม่ก็ได้ เมื่อลงสีรูปหนังเสร็จถือว่ารูปหนังเสร็จสมบูรณ์แล้ว

ในการแกะรูปหนังตะลุงนั้น นายช่างจะต้องมีใจรักและมีจินตนาการที่ดี และควรที่จะศึกษาประวัติของตัวหนังที่จะแกะ ว่ามีรูปร่าง หน้าตา และบุคลิก ลักษณะอย่างไร เพื่อที่จะได้ภาพหนังตามแบบตัวละคร ที่มีลักษณะเด่นแตกต่างกันไป  นอกจากนี้การแกะหนังยังเกี่ยวข้องกับความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกด้วย เพื่อให้เกิดความเป็น ศิริมงคล แก่ตนเองและคณะ ป้องกันอันตรายที่จะมีขึ้น
                
นายช่างแกะรูปหนังตะลุงจะต้องตั้งจิตระลึกถึงครูอาจารย์ คือครูลาย    ครูหนฺก(ครูหนฺก : ครูที่เขียนลายกนกต่างๆ) และพระพิฆเนศวร หรือพระพิฆเนศวร์    พระผู้ประสาทวิชาศิลป์ แล้วจรดปลายมีดแกะลงบนผืนหนังเพื่อจะแกะรูปตัวแรกพร้อมกล่าวเป็นถาถาเบิกตารูปว่า
                                                           
                                                              พุทธัง  จักขุ  รูปัง  ปักกัจฉามิ
                                                               ธัมมัง  จักขุ  รูปัง  ปักกัจฉามิ
                                                               สังฆัง  จักขุ  รูปัง  ปักกัจฉามิ

รูปหนังตัวต่อๆไปที่ทำในวันนั้น จะไม่ต้องว่าคาถาข้างต้นอีก แต่พอเริ่มวันใหม่     ก็ต้องกล่าวคาถานี้อีก  และเมื่อแกะลวดลายเสร็จแล้ว ก็จะนำรูปหนังตะลุงไปลงสี ซึ่งสีที่ใช้มีทั้งมาจากธรรมชาติ และสีสังเคราะห์ โดยจะเลือกลงสีให้เหมาะสมกับบุคลิกของหนังแต่ละตัว ถ้าเป็นรูปหนังฟอกทั้งสองหน้า เมื่อแห้งสนิทดีแล้วจะใช้น้ำมันวานิชสำหรับทาไม้ทาชักเงา และกันน้ำอีก      ทีหนึ่ง โดยในสมัยก่อนจะใช้น้ำมันยางเคลือบเงา หลังจากนั้นนำตัวหนังที่ประกอบเสร็จแล้วมาใส่ก้านไม้ไว้สำหรับเชิดและปักหน้าจอ และถ้าเป็นตัวตลกจะใส่ก้านไม้เพิ่มที่มือทั้งสองด้านด้วย     เพื่อทำเชือกดึงปากให้สามารถอ้าออกได้เวลาพูด ซึ่งในปัจจุบันนี้การแกะรูปหนังตะลุงมีทั้งเพื่อนำไปใช้ในการแสดง และสำหรับเป็นของที่ระลึกของจังหวัดทางภาคใต้อีกด้วย
                        
ตัวหนังตะลุง
                      
  ตัวหนังตะลุงสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
                        
กลุ่มที่ 1  รูปตัวหนัง คือ หนังชั้นสูง ได้แก่ พระฤาษี พระอิศวร พระราชน    พระมเหสี เป็นต้น กลุ่มที่ 2  รูปเชิด คือ รูปหนังทั่วไป เช่น ตัวพระ ตัวนาง ยักษ์ หนุมาน เป็นต้น
กลุ่มที่ 3  รูปกาก คือ รูปหนังที่เป็นตัวตลก ซึ่งมักจะมีคำนำหน้าชื่อว่า “อ้าย”     นอกจากนี้ยังรวมถึงรูปหนังที่เป็นองค์ประกอบอื่นๆอีก เช่น ปราสาทราชวัง ต้นไม้ เป็นต้น


ตัวหนังตะลุงแต่ละกลุ่มจะมีเอกลักษณ์ประจำตัวที่แตกต่างกัน ดังนี้




๑. พระฤาษี เป็นรูปหนังตัวครูไว้สำหรับเคารพบูชา และใช้สำหรับการเชิดออกฤาษีหลังการทำพิธีกรรมเบิกโรง พระรูปฤาษีรูปครูจะลงสีดำและปิดทองคำเปลว ชาวบ้านเรียกว่าฤาษีหัวค่ำ  ส่วนพระฤาษีที่ออกในท้องเรื่องแม้ตัวจะเป็นสีดำแต่ก็จะมีสีสันตามลักษณะที่ต้องการ และหากเป็นฤาษีประเภทที่ประพฤติออกนอกลู่นอกทางของนักบวช ก็จะมีรูปลักษณ์ที่แสดงออกถึงพฤติกรรมนั้นๆประกอบด้วย ซี่งมักเรียกเชื่อว่า ฤาษีเส้ง หรือฤาษีนกเค็ด



๒. พระอิศวร มักจะแกะเป็นรูปพระอิศวรทรงโคอุสุภราช บางคณะอาจใช้รูปพระอิศวรในปางอาวตารของพระนารายณ์สี่กรก็ได้  บางคณะจะมีการออกนางฟ้านางเมขลาล่อแก้ว ก่อนจะออกพระอิศวรก็มี  การออกพระอิศวรเป็นการเคารพต่อเทวดา ใช้สำหรับเชิดต่อจากพระฤาษี  ชาวบ้านเรียกว่า “ออกโค”




๓. เจ้าเมือง หรือ ตัวพระ เรื่องที่นิยมแสดงคือวรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์ หรือเป็นนิทานจักรๆวงศ์ๆ ซึ่งพระเอกมักจะเป็นกษัตริย์แต่จะเรียกว่าเจ้าเมืองหรือถ้าเป็นเจ้าชายหรือราชกุมาร จะทรงเครื่องเช่นกันแต่ไม่สวมมงกุฎ รูปหนังตัวพระจึงมีลักษณะเป็นชายรูปงามที่ทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ แต่ถ้าเป็นตัวพระเอกที่ไม่ใช่เจ้าชาย คือ ตัวเอกเป็นคนธรรมดาก็จะแต่งกายตามท้องเรื่องซึ่งเป็นรูปแบบที่คิดประดิษฐ์ขึ้นใหม่ตามยุคสมัย

๔. นางเมือง หรือตัวนาง นิยมแกะเป็นรูปผู้หญิงสาวที่มีรูปร่างสวยงาม พร้อมกับทรงเครื่องอย่างเจ้าหญิงถ้าสวมมงกุฎจะใช้เป็นรูปมเหสีหรือเรียกว่า นางเมือง แต่ถ้าไม่สวมมงกุฎจะใช้เป็นรูปเจ้าหญิง หรือราชธิดา ซึ่งเหมาะสมกับเรื่องจักรๆวงศ์ๆ  แต่นางเอกที่เป็นผู้หญิงคนธรรมดา หรือชาวบ้านก็แต่งกายตามลักษณะของท้องเรื่องนั้นๆ


๕. ตัวยักษ์ นิยมแกะเป็นยักษ์ที่มีหน้าตาน่ากลัว ถ้าเป็นยักษ์ที่เป็น     เจ้าเมือง ก็จะแต่งกายเต็มยศมือถือดาบ/หอกหรือกระบอง  ถ้าเป็นยักษ์ป่าจะนุ่งใบไม้ ถือกระบองหรือขวาน และที่เป็นยักษ์ตัวเมียก็จะมีรูปลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นเพศหญิงให้เห็นด้วย

 นอกจากตัวละครที่กล่าวไปแล้วนั้น หนังตะลุงยังต้องมีตัวตลก หรือรูปกาก เพื่อสร้างความสนุกสนานให้กับเนื้อเรื่องด้วย ในคณะหนึ่งๆ มักจะมีตลกเอกไม่เกิน 6 ตัว ที่เข้ากับเสียงและนิสัยของนายหนัง นอกนั้นเป็นตัวตลกประกอบตัวตลกจะพูดภาษาใต้การแต่งกายมักจะเปลือยท่อนบน หน้าตาจะผิดเพี้ยนจากคนจริงไปบ้าง แต่ละตัวมีเสียงพูดหรือสำเนียงโดยเฉพาะ ตัวตลกเอก นิยมนำหนังเท้าของอาจารย์ที่ตนเคารพนับถือ มาทำเป็นริมฝีปากล่าง เพื่อให้เกิดความขลังและศักดิ์สิทธิ์ ปิดทองทั้งตัว บางที่ทำเชือกชักปากด้วยทองแบบสร้อยคอ โดยตัวตลก    แต่ละตัวนั้นก็จะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไป ดังนี้



. นายเท่ง หรืออ้ายเท่ง เอาเค้ามาจากชาวบ้านคนหนึ่ง อาศัยอยู่บ้าน     คูขุด อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา มีนิสัยมุทะลุ พูดจาขวานผาซาก ชอบข่มขู่เพื่อน ล้อเลียนเก่ง มีลักษณะเด่นคือ ผอมสูง ท่อนบนยาวกว่าท่อนล่าง ผิวดำ ปากกว้าง หัวเถิก ผมงอหยิก ใบหน้าคล้ายนกกระฮัง นิ้วมือขวายาวโตคล้ายอวัยวะเพศผู้ชาย นิ้วชี้กับหัวแม่มือซ้ายงอหยิกเป็นวงเข้าหากัน นุ่งผ้าโสร่งลายตาหมากรุก คาดพุงด้วยผ้าข้าวม้า ไม่สวมเสื้อ ที่สะเอวเหน็บมีดอ้ายครก  (มีดปลายแหลมด้านงอโค้งมีฝัก)

 ๒. นายยอดทอง หรืออ้ายทอง เชื่อกันว่าเป็นชื่อคนจริงชาวจังหวัดพัทลุง บางตำนานก็ว่าเป็นพ่อค้าขายพลูอยู่ตลาดเขาชุมทอง อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช รูปร่างอ้วน ผิวดำ พุงย้อยก้นงอนขึ้นบนผมหยิกเป็นลอน จมูกยื่น ปากบุ๋ม เหมือนปากคนแก่ ไม่มีฟัน หน้าเป็นแผลจนลายคล้ายหน้าจระเข้ นุ่งผ้าลายโจงกระเบน ไม่สวม-เสื้อ เหน็บกริชเป็นอาวุธประจำกาย เป็นคนเจ้าชู้ ปากพูดจาโอ้อวด ใจเสาะ   ขี้ขลาด พูดจาเหลวไหล ยกย่องตนเอง บ้ายอ

๓. นายหนูนุ้ย หรือ อ้ายนุ้ย  เป็นคนวิกลจริต รูปร่างหน้าตาและกิริยาท่าทางดูประหลาด นำเค้ามาจากคนซื่อๆ แกมโง่ ผิวดำ รูปร่างค่อนข้างเตี้ย พุงยานโย้คอตก ทรงผมคล้ายแส้ม้า จมูกปากยื่นออกไป คล้ายกับปากวัว มีเครายาวคล้ายหนวดแพะ ใครพูดเรื่องวัวเป็นไม่พอใจ นุ่งผ้าโสร่งแต่ไม่มีลวดลาย ไม่สวมเสื้อ ถือมีดตะไกรหนีบหมากเป็นอาวุธ พูดเสียงต่ำสั่นเครือดันขึ้นนาสิก ชอบคล้อยตามคนยุยงส่งเสริม แสดงความซื่อออกมาเสมอ


 ๔. นายเมืองหรือ อ้ายขวัญเมือง คนในจังหวัดนครศรีธรรมราชไม่เรียกว่าอ้ายเมือง   แต่เรียกว่า "ลุงขวัญเมือง" แสดงว่าได้รับการยกย่องจากคนในท้องถิ่น ใบหน้าของขวัญเมืองคล้ายแพะ ผมบางหยิกเล็กน้อย ผิวดำ หัวเถิก จมูกโด่งโตยาว ปากกว้าง พุงยานโย้ ก้นเชิด นุ่งผ้าพื้นดำ คาดเข็มขัด ไม่สวมเสื้อ เป็นคนซื่อ ชอบสงสัยเรื่องของผู้อื่น พูดจาเสียงหวาน


 ๕. นายสะหม้อหรืออ้ายสะหม้อ เป็นตัวหนังตะลุงที่นำมาจากคนจริง โดยได้รับอนุญาตจากชาวอิสลามชื่อสะหม้อ อยู่บ้านสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา รูปร่างอ้ายสะหม้อ หลังโกง มีโหนกคอ คางย้อย ลงพุง รูปร่างเตี้ย สวมหมวกแขก นุ่งผ้าโสร่ง ไม่สวมเสื้อ พูดล้อเลียนผู้อื่นได้เก่ง อวดดี นับถือศาสนาอิสลามแต่ชอบกินหมู ชอบดื่มเหล้า พูดสำเนียงเนิบนาบ รัวปลายลิ้น




๗.นายโถ หรือ อ้ายโถ เอาเค้ามาจากจีนบ๋าบา ชาวพังบัว อำเภอสะทิงพระ จังหวัดสงขลา รูปร่าง มีศีรษะค่อนข้างเล็ก ตาโตถลน ปากกว้าง ริมฝีปากล่างเม้มเข้าใน ส่วนท้องตึง     อกใหญ่เป็นรูปโค้ง สวมหมวกมีกระจุกข้างบน นุ่งกางเกงถลกขา ถือมีดบังตอเป็นอาวุธ ชอบร้องรำทำเพลง ขี้ขลาดตาขาว โกรธใครไม่เป็น ถือเอาเรื่องกินเป็นเรื่องใหญ่ ใครจะพูดเรื่องอะไรก็ตาม      อ้ายโถจะชักเรื่องที่พูดวกเข้าหาเรื่องกินเสมอ เป็นตัวตลกประกอบ
 ๖. ผู้ใหญ่พูน สันนิษฐานว่าน่าจะเลียนแบบมาจากผู้ใหญ่คนใดคนหนึ่ง รูปร่างสูงใหญ่ จมูกยาวคล้ายตะขอเกี่ยวมะพร้าว ศีรษะล้าน มีผมเป็นกระจุกรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตรงกลางกลวงอยู่ กลางพุงโย้ย้อยยาน ตะโพกใหญ่ขวิดขึ้นบน นุ่งผ้าโจงกระเบน ไม่มีลวดลาย ชอบยุยง โม้โอ้อวด เห่อยศ ขู่ตะคอกผู้อื่นให้เกรงกลัว ธาตุแท้เป็นคนขี้ขลาดตาขาว ส่วนมากเป็นคนรับใช้อยู่เมืองยักษ์หรือกับฝ่ายโกง พูดช้าๆ หนีบจมูก เป็นตัวตลกประกอบ





 . นายสีแก้ว หรือ ตาแก้วหรือ อ้ายแก้ว เชื่อกันว่าเอาเค้ามาจากคนที่ชื่อสีแก้วจริงๆ เป็นคนจังหวัดชุมพร แต่ขึ้นรถไฟผิดขบวนมาลงที่จังหวัดนครศรีธรรมราช   เป็นคนงุ่มง่ามพูดจาช้าๆ เสียงทุ้มแต่ชัดถ้อยชัดคำ เป็นคนพูดจริงทำจริงและสู้คนมือหนักแต่มักคิดช้าไม่ค่อยทันคนอื่น แต่ชอบตักเตือนผู้อื่นให้อยู่ในทำนองคลองธรรม หัวเราะเสียงอยู่ในลำคอ รูปร่างอ้วนเตี้ย ผิวคล้ำ มีโหนกคอ ศีรษะล้าน  ไม่สวมเสื้อ นุ่งกางเกงขายาวพับขาขึ้นมาถึงหัวเข่า  หนังตะลุงคณะแรกที่นำมาใช้ในการแสดงคือหนังจุเลี่ยม  กิ่งทอง   ต่อมาหนังปรีชา  สงวนศิลป์ นำมาใช้เป็นรูปตลกเอกคู่กับนายนุชและนายดุเหว่าและต่อมาได้ถ่ายทอดมาให้หนังสถิตย์  ปรีชาศิลป์  และลูกศิษย์คนอื่นๆสืบต่อกันมา



๙. นายดุเหว่าหรือ อ้ายเหวาอาเค้ามาจากชาวบ้านคนหนึ่ง อาศัยอยู่ที่บ้านนางพญา ตำบลปากนคร เสียงดังแหลม ใบหน้าแหลมคล้ายหัวปลาสลด ไว้ผมเปีย รูปร่างผอมเล็ก ไม่สวมเสื้อ นุ่งกางเกงขายาวพับขาข้างซ้ายขึ้น มีอาชีพเป็นชาวประมง ต่อมาได้เป็นลูกคู่หนังตะลุง       ถือขวานเป็นอาวุธ พูดเสียงแหลม กะล่อน ฉลาดแกมโกง หัวเราะเสียงลงลูกคอเสียงดังเอิ๊ก เป็นเพื่อนคู่หูกับนายแก้ว โดยนายแก้วเรียกว่า น้องเหวา 



๑๐. นายนุชหรืออ้ายนุชหรือวรนุช เอาเค้ารูปร่างมาจากชาวบ้าน ที่ชื่อนุดซึ่งเป็นชาวนาในบ้านบางคล้า   หมู่ที่ 9 ตำบลบางจาก อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีนิสัยเจ้าระเบียบ ประหยัดมัธยัสถ์ มักจะมีความเห็นคล้อยตามผู้นำ ชอบความสวยงามคล้ายนิสัยผู้หญิง บนศีรษะสวมหมวกเปี้ยว (หมวกยอดแหลมทำจากใบจาก) มือขวาถืออาวุธเป็นมีดด้ามยาว มือซ้ายยาวเรียวและงอนคล้ายกับมือของผู้หญิง (มือโนราห์)       พูดเสียงยาน ระดับเสียงกลาง เนิบนาบ มีเชาวน์ปัญญาแต่ไม่ค่อยสู้คน
 ๑๑. อ้ายแก้วกบ  มีรูปร่างอ้วน ปากกว้างคล้ายกบ ชอบสนุกสนาน พูดจากไม่ชัด หัวเราะเก่ง ชอบพูดคำศัพท์ที่ผิดๆ เช่น อาเจียนมะขาม (รากมะขาม) ข้าวหนาว (ข้าวเย็น) ชอบร้องบทกลอน แต่ขาดสัมผัส เพื่อนคู่หูคือนาย ยอดทอง  คณะแรกที่นำมาใช้เป็นรูปตลกคือหนังขำ  พันวาว  แต่ต่อมามาหนังเคล้าน้อย ได้นำมาใช้ เป็นรูปตลกเอก และได้ถ่ายทอดมาลู่ลูกศิษย์ต่อมา   แต่ในยุคเดียวกับที่หนังเคล้าน้อยกำลังดังนั้นก็มีหนังปล้อง ใช้รูปนี้เป็นตัวตลกเอกเหมือนกันแต่ตั้งชื่อว่า อ้ายลูกหมี ซึ่งได้ถ่ายทอดมาถึงลูกศิษย์ของหนังปล้อง  อ้ายลูกหมีหลายคณะเช่นกัน  แต่นายหนังจะรู้ว่ารูปลักษณะของอ้ายแก้วกบกับอ้ายลูกหมีนั้นแตกต่างกันที่ส่วนหูกล่าวคือ อ้ายแก้วกบ จะมีหูเป็นร่องเล็กๆ ดังรูปนี้  แต่ นายลูกหมีจะมีหูผึ่งแหลมขึ้นมาจากศีรษะเล็กน้อยแต่เมื่อนายหนังให้ช่างตัดรูปหนังแกะรูปให้นั้น ช่างรูปบางคนอาจเห็นว่าเป็นรูปลักษณะเดียวกันจึงได้ปาดส่วนหูที่ผึ่งออกมานั้นทิ้งไปให้สวยงามตามลักษณะทางช่าง อย่างไรก็ดีในปัจจุบันคนจะรู้จักรูปลักษณ์แบบนี้ในนามของอ้ายลูกหมีมากกว่าจะรู้จักนายสีแก้วหรือแก้วกบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น